ประเด็นร้อน
ธุรกิจเด้งรับกม. ศุลฯใหม่
โดย ACT โพสเมื่อ Oct 12,2017
- - สำนักข่าวฐานเศรษฐกิจ - -
สินบนนำจับไม่เกิน5ล้าน
เอกชนขานรับกฎหมายศุลกากรใหม่แจงทันสมัยนำเข้า-ส่งออกคล่องตัว ลดซ้ำซ้อนโปร่งใส ปฏิบัติง่าย "กุลิศ" เผยพ.ร.บ.ใหม่อนุญาตยื่นพิกัดล่วงหน้า ลดรางวัลสินบนนำจับไม่เกิน 5 ล้านบาท แถมห้ามเจ้าหน้าที่ซอยคดี
พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ศุลกากร พ.ศ.2560 ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 ปรับเปลี่ยนในหลายมาตรา เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและสนับสนุนการลงทุนทำธุรกิจ ด้วยการลดกระบวนการและพิธีการทางศุลกากรให้ความคล่องตัว และสร้างความโปร่งใส ลดการทุจริตในการทำงานของเจ้าหน้าที่ศุลกากรด้วย
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า กฎหมายศุลกากรใหม่โดยภาพรวมถือว่าดีต่อการทำธุรกิจ เนื่องจากมีการปรับแก้หลายส่วนให้ทันสมัยและเป็นไปตามความเห็นของภาคเอกชนที่เสนอด้วย
"หลายเดือนก่อนหน้านี้ศุลกากรกับเอกชนมีการหารือร่วมกันต่อเนื่อง เช่น กรณีที่ทำผิดกฎหมายจะมีการกำหนดรางวัลนำจับ หรือกรณีที่ทำผิดระเบียบ เดิมจะถูกปรับ 4 เท่า ซึ่งสูงเกินไป ของใหม่จะกำหนด ปรับไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ หรือกรณีการตีพิกัด เดิมทีมีของเข้ามาก่อน ถึงจะตีพิกัดได้ ต่อไปสามารถนำเฉพาะเอกสารไปตีพิกัดก่อนได้ เวลานำสินค้าเข้ามาจะได้ไม่ขัดแย้งกันในเรื่องพิกัด"นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้เป็นกรรมาธิการในการแก้ไขพ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้รับความร่วมมือดีจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้พ.ร.บ.ศุลกากรฉบับใหม่ทันสมัย ลดความซ้ำซ้อนมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับความเป็นจริง กระแสตอบรับจากภาคเอกชนออกมาก็ได้รับการตอบรับดีมาก
นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า มีหลายประเด็นตามพ.ร.บ.ใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ประการแรก การวินิจฉัยอากรและการอุทธรณ์ประเมินอากร กำหนดให้จัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาข้อพิพาททางภาษี 4 คณะ และกำหนดเวลาให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาให้เสร็จภายใน 180 วันนับจากวันที่ได้รับอุทธรณ์และมีเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับการอุทธรณ์ครบถ้วน
หากมีเหตุจำเป็นสามารถขยายเวลาออกไปอีกได้แต่ไม่เกิน 90 วัน ถ้าเกินกว่านั้นให้ผู้ยื่นอุทธรณ์ไปฟ้องศาลได้ ทำให้ผู้ประกอบการมีความคล่องตัวในการทำงาน และเวลาลดลงในข้อพิพาท จากเดิมที่ไม่จำกัดอายุ อาจจะยาว 5 ปี 10 ปี
ประการที่ 2 ผู้ที่ต้องการจะขอทราบราคาศุลกากร ถิ่นกำเนิด หรือพิกัดอัตราศุลกากร สามารถยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยล่วงหน้าได้ โดยจ่ายค่าธรรมเนียมในการดำเนินการ 2,000 บาท ประการที่ 3 กรณีไม่เสียอากรหรือเสียอากรไม่ครบถ้วนให้ดำเนินการได้ภายใน 3 ปีนับจากวันยื่นใบขนสินค้า เว้นแต่มีเหตุจำเป็นขอขยายเวลาได้อีก 2 ปี และกรณีที่ปรากฏหลักฐานที่เชื่อได้ว่ามีเจตนาฉ้ออากร สามารถขยายเวลาได้อีก 5 ปี หลังประเมินอากรแล้ว ผู้นำเข้ามีหน้าที่เสียอากรภายใน 30 วันหากล่าช้าให้เรียกเก็บเงินเพิ่มอีกใน 1% ต่อเดือน และหากยังล่าช้าไม่มาชำระใน 30 วัน ให้เสียเบี้ยปรับเงินเพิ่มเป็น 20% ของอากรที่ต้องเสีย
ประการที่ 4 การยึดอายัดสินค้ากำหนดให้ 30 วัน ให้มาชำระ ถ้าไม่มาให้ขายทอดตลาด ครอบคลุมสินค้าทุกอย่างที่ถูกอายัด และไปใช้ประมวลวิธีพิจารณาความแพ่งมาบังคับใช้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การคลังจะไปออกกฎระเบียบ 1 ฉบับ กรมศุลกากร 1 ฉบับ และ เกณฑ์การเปรียบเทียบปรับอีก 1 ฉบับ กฎหมาย 3 ตัวนี้จะเป็นหัวใจของการแก้ปัญหาของกรมศุลกากร
ประการที่ 5 การคืนภาษี ให้สามารถใช้ได้กับทุกด่าน เดิมจะขอคืนได้เฉพาะด่านที่ส่งออก ที่จะส่งออกสินค้าผ่านด่านเท่านั้น ประการที่ 6 สินค้าผ่านแดน เดิมสินค้าผ่านแดน 90 วันต้องนำออก แต่ของใหม่กำหนดไว้แค่ 30 วัน ต้องนำออก แต่เนื่องจากมีตกลงระหว่างประเทศ ดังนั้นจึงมีบทเฉพาะกาลให้ใช้ 90 วันตามเดิม
ประการที่ 7 เขตปลอดอากร คลังสินค้าทัณฑ์บน และ สินค้าคงทน เพื่อส่งเสริมส่งออก กฎหมายใหม่มุ่งเน้นให้เป็นที่เก็บของ สนับสนุนดิวตี้ฟรี มุ่งเน้นการสร้างโรงงานผลิตสินค้าที่ต่อเนื่อง ต้องมีใบอนุญาตและเพิกถอนได้ เขตปลอดอากร มีการสนับสนุน นำเข้าวัตถุดิบมาผลิต หากขายในประเทศเสียภาษี ส่งออกจะได้รับการยกเว้น
ประการที่ 8 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ศุลกากรใช้ป.วิอาญา ตรวจค้นสินค้าในที่สาธารณะได้ กรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนี้
ประการที่ 9 สินบนรางวัลได้ปรับวงเงินรวมกันไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อคดีจากเดิมไม่กำหนด และไม่สามารถซอยคดีได้ และจำกัดคดีเฉพาะความผิด 3 กลุ่ม คือ 1.ลักลอบ 2. ซื้อของผิดกฎหมาย 3.หลีกเลี่ยงข้อห้าม จากเดิมที่ให้ทุกอย่าง ขณะที่เงินที่ได้หัก 5% เข้ากองทุนสนับสนุนของกรมศุลกากร
ประการสุดท้ายตัวแทนออกของหรือชิปปิ้ง จากเดิมที่ใครๆก็สามารถประกอบอาชีพได้ ต่อไปจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมศุลกากร และต้องขึ้นทะเบียนกับกรมศุลกากรเท่านั้น
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน
WebSite : http://www.anticorruption.in.th